วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การฟื้นฟูและทำความสะอาดภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วม ตอนที่3

ภาพ : www.oknation.net

จาก 2 ตอนที่ผ่านมาเราได้คุยเกี่ยวกับโรคที่เกิดน้ำท่วม (flood water) และ อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล (PPE)ไปบ้างแล้ว ตอนที่ 3 นี้เรามาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลือกน้ำยาที่จะใช้ทำความสะอาด และฆ่าเชื้อกันดีกว่าครับ ผมขออนุญาตแนะนำวิธีการเลือกน้ำยาฆ่าเชื้อที่ดีให้นะครับ


คุณสมบัติของน้ำยาฆ่าเชื้อราที่ดีควรจะพิจารณาดังนี้
- สามารถทำลายเชื้อราได้รวดเร็วและหลายชนิด
- มีความคงตัวแม้อยู่ในสถาวะที่เป็นกรดหรือด่าง
- ประสิทธิภาพไม่ลดลงเมื่อสัมผัสสารอินทรีย์
- ไม่กัดกร่อนพื้นผิว ( โลหะ พลาสติก ยาง )
- ไม่ระคายเคืองผิวหนัง เยื่อเมือก ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
- ไม่มีกลิ่นฉุน กลิ่นเหม็น
- ไม่มีผลกระทบต่อระบบบำบัดน้ำเสีย
- ราคาเหมาะสม

ตารางเปรียบเทียบน้ำยาฆ่าเชื้อราชนิดต่างๆ

น้ำยาที่มีฤทธิ์อ่อน
ความเข้มข้น สูตรผสม
วิธีการใช้งาน
ประสิทธิภาพ/ข้อดี
ข้อเสีย
1.น้ำส้มสายชู
7 %
ใช้กระดาษเช็ด
ใส่ขวดสเปรย์ ทิ้งไว้ 5-10 นาทีแล้วเช็ดออก
กำจัดได้ 80%
ฆ่าสปอร์ไม่ได้
กลิ่นฉุน
มีความเป็นกรด
2. Tea tree oil
2 ช้อนชา ในน้ำ2 ถ้วย
ใส่ขวดสเปรย์ แล้วเช็ดออก
ฆ่าเชื้อราได้หลายชนิด
กลิ่นฉุน
ราคาแพง
3. Grapefruit seed extract
20 หยด ในน้ำ2 ถ้วย
ใส่ขวดสเปรย์ แล้วเช็ดออก
ไม่มีกลิ่น
ราคาแพง
น้ำยาที่มีฤทธิ์เข้มข้น
ความเข้มข้น สูตรผสม
วิธีการใช้งาน
ประสิทธิภาพ/ข้อดี
ข้อเสีย
1. แอลกอฮอล์
60-90%
เช็ดทิ้งไว้
5-10 นาทีแล้วเช็ด
ออกฤทธิ์รวดเร็ว
ราคาถูก
ไวไฟ, ระคายเคือง ตา ผิวหนัง และระบบทางเดินหายใจ
2. โซเดียมไฮโปคลอไรค์ (สารประกอบคลอรีน)
1 ต่อ 10
ทาแล้วเช็ดออก
ฤทธิ์ในการทำลายเชื้ออย่างกว้างขวาง มีราคาถูก และออกฤทธิ์อย่างรวดเร็ว
เสื่อมสภาพเร็วเมื่อสัมผัสสารอินทรีย์
มีฤทธิ์กัดกร่อน
3. ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์
3-6%
ทาแล้วเช็ดออก
ไม่มีข้อมูล
ต้องทิ้งไว้นาน
4. ไอโอดอฟอร์
75 ppm
(ส่วนในล้านส่วน)
ทาแล้วเช็ดออก
ฆ่าสปอร์ได้
ต้องทิ้งไว้นานกว่า 10 นาท

คลิ๊กดูตารางฉบับเต็มครับ (Blog จำกัดพื้นที่ครับ)
จะเห็นได้ว่าน้ำยาฆ่าเชื้อโรคมีหลากหลายชนิดขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานในการพิจารณาตามความเหมาะสม ถึงแม้ว่าทางกระทรวงสาธารณสุขจะแนะนำให้ใช้หน้ากาก N95 ในการป้องกัน แต่ในส่วนตัวแล้วผมขอเพิ่มเติมว่า หน้ากากมาตรฐาน P2 ก็มีประสิทธิภาพที่เทียบเท่าและไม่ด้อยไปกว่า N95 ในกรณีที่เราไม่สามารถหาหน้ากาก N95 ได้ครับ เพราะคิดว่าอะไรที่คนต้องการด่วนมันมักจะขาดตลาด เช่นเดียวกันครับในยุโรปมีการใช้หน้ากากมาตรฐาน P2 แทน N95 ในการป้องกัน Avian flu และ Sars และวัณโรคครับ
มากไปกว่านั้นอย่าลืมว่าอันตรายที่เกิดขึ้นจากการทำความสะอาดเชื้อราไม่ช้เพียงแค่ละออง (mist) จากเชื้อราที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่น้ำยาฆ่าเชื้อที่เราใช้เช็ดก็สามารถเปลี่ยนสถานะกลายเป็นไอได้ด้วย เช่น แอกอฮอล์, โซเดียมไฮโปคลอไรค์ (Chlorox), น้ำส้มสายชู ดังนั้นหน้ากาก N95 หรือ P2 อาจจะไม่เพียงพอเสียแล้ว จึงจำเป็นต้องใช้ตลับกรองอากาศ (cartridges) ชนิดที่สามารถป้องกันไอสารอินทรีย์ (organic cartridge) สำหรับไอของแอลกอฮอล์ หรือป้องกันไอกรด (acid cartridge)ที่เกิดขึ้นของโซเดียมไฮโปคลอไรค์ และน้ำส้มสายชูด้วยครับ
หลายคนสงสัยว่าทำไมต้องใช้เป็นหน้ากาก N95 หรือหน้ากากมาตรฐาน P2 ทำไมใช้ผ้าปิดจมูก หรือหน้ากากอนามัย (surgical mask) ไม่ได้หรือไง ผมขออธิบายดังนี้ครับว่าโดยปกติแล้วหลายประเทศจะยึดหลักตามคำแนะนำของหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ หรือ ขึ้นอยู่กับประกาศมาตรฐานของประเทศนั้นๆเป็นหลัก แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะเลือกใช้ตามมาตรฐานคำแนะนำของ CDC (Centers Diseases for Control and Prevention) และ WHO (World Health Organization) เป็นหลักครับเพราะเป็นหน่วยงานที่มีความน่าเชื้อถือมากที่สุด
"ห่วงบ้าน แต่อย่าลืมห่วงตัวเองนะครับ"
เรียบเรียง โดย ปราโมทย์ โอภาสมงคลชัย
Sources :
- กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
- 203.155.220.217/dental/image/image/data/.../jintana.doc
- ภาพหน้ากากhttp://www.esafetythailand.com

วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การฟื้นฟูและทำความสะอาดภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วม ตอนที่2





จากตอนที่แล้วเราทราบแล้วว่าน้ำท่วมทำให้เกิดโรคร้ายที่ตามมาเช่น บาดทะยัก ฉี่หนู ไทฟอยด์ ไวรัสตับอักเสบ ไข้หวัดชนิดต่างๆ สำหรับตอนที่ 2 นี้เราจะเพิ่มสิ่งที่ควรระมัดระวังขึ้นอีก คือ เชื้อรา (fungi)” ที่เป็นสาเหตุให้เกิดการเจ็บป่วยได้ เชื้อราเกิดขี้นบนพื้นผิวของวัสดุ และโครงสร้างต่างๆที่ถูกทำลาย หรือปนเปื้อนจากน้ำท่วม หรือการเน่าของผัก ขยะ ซากต่างๆ เชื้อราสามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของเราได้จากการหายใจเข้า แต่อย่างไรก็ตามเชื้อราส่วนใหญ่ไม่มีอันตรายร้ายแรงนัก แต่บางชนิดก็ก่อให้เกิดความผิดปกติต่อระบบทางเดินหายใจได้ โดยเฉพาะกับผู้ที่ปฏิบัติงานฟื้นฟู ซ่อมแซมภายหลังภาวะน้ำท่วมที่อาจมีอาการแพ้ได้ เช่น หอบ หืด หายใจลำบาก ระคายตา หายใจมีเสียงวี๊ดๆ ในกรณีที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้วจะเกิดได้รุนแรงมากขึ้น ดังนั้นหน้ากาก ถุงมือ และอุปกรณ์ป้องกันดวงตาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และต้องสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ให้น้อยที่สุด การสัมผัสนานๆและบ่อยๆ อย่างต่อเนื่องและมีเหงื่อออกด้วยอาจนำไปสู่การติดเชื้อที่ผิวหนังได้ แต่ปัญหาเหล่านี้สามารถบรรเทาลงได้โดยการทำความสะอาดร่างกายอย่างถูกวิธีด้วยน้ำอุ่น และสบู่อ่อนๆ แล้วเช็ดให้แห้ง



จำไว้ว่า

  • ต้องหลีกเลี่ยง เชื้อราที่เกิดจากต้นเหตุที่กล่าวมา
  • ใช้หน้ากากมาตรฐาน N-95 NIOSH
  • ทิ้งของเสียทั้งหมดที่ชำรุด เพื่อลดการติดเชื้อ ถ้าอันไหนไม่มั่นใจก็ให้ทิ้งไป
  • พื้นผิวใดที่มีราไม่มากนักให้ขัดออกด้วยน้ำอุ่น และน้ำยาฆ่าเชื้อ
  • ภายหลังเสร็จงานให้ล้างนิ้ว มือและหนังศีรษะด้วย
  • ถ้าพบว่าอาหารและน้ำดื่มมีการปนเปื้อนให้ทิ้งไป
สำหรับผู้ปฏิบัติงานให้พิจารณาสิงต่อไปนี้
  • ถ้าน้ำท่วมถึงขนาดที่ทำลายบ้านเรือนได้ ย่อมมีโอกาสที่เชื้อราเติบโตได้มากให้ปรึกษาบริษัทประกัน หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านเชื้อรา
  • ต้องสวมใส่หน้ากากมาตรฐาน NIOSH-approved Respiratory มาตรฐาน N-95 ตามข้อกำหนด ของ OSHA’s Respiratory Protection Standard (29CFR 1910.134) และสวมใส่ถุงมือยาง และแว่นตานิรภัย
  • กำจัดซากที่เปียกชื้น และมีเชื้อราโดยทิ้งในถุง และผูกให้เรียบร้อย หรือถุงที่ปิดฝามิดชิด
  • ถอด และทิ้งพวกวัสดุที่ทำงานสารอินทรีย์และมีพื้นผิวเป็นรูพรุน (porous organic materials) เพราะพวกนี้จะปนเปื้อนไปด้วยเชื้อราจำนวนมาก เช่น ฉนวน ระบบระบายอากาศ พรม เบาะ และที่นอน
  • ทำความสะอาดพวกวัสดุที่ไม่ทำจากสารอินทรีย์ (non-porous organic materials) ด้วยผงซักฟอก หรือคลอรีนเจือจาง
  • การใช้สารเคมีในการกำจัดเชื้อเหล่านี้ อย่าลืมสวมหน้ากาก NIOSH-approved ที่เหมาะสมและใช้คู่กับตลับกรองอากาศที่ถูกต้องตามชนิดของสารเคมี อย่าลืมแว่นตานิรภัย และถุงมือด้วยครับ
เรียบเรียงโดย
ปราโมทย์ โอภาสมงคลชัย


Sources:
U.S. Department of Labor www.osha.gov.


วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การฟื้นฟูและทำความสะอาดภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วม ตอนที่ 1





ภาพ : www.aseanwatch.org

น้ำท่วมนอกจากจะก่อให้เกิดความเสียหายนานับประการกับทรัพย์สินแล้ว มากไปกว่านั้นยังส่งผลต่อการติดเชื้อ และโรคร้ายต่างๆที่มากับน้ำ ตลอดจนแมลง สัตว์ กัด ต่อย เช่น ยุง หรือแม้กระทั่งสุนัข แมว หนูที่เกิดความเครียดไม่แพ้กับคนก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของโรคพิษสุนัขบ้า(Rabies) ได้ ที่นำไปสู่การเป็นอัมพาตที่กล้ามเนื้อ และระบบทางเดินหายใจ

สิ่งแรกที่ต้องคิดคือการปกป้องตัวของเราเอง (Protect Yourself)
ทุกครั้งที่ทำความสะอาด ฟื้นฟูสภาพต่างๆภายหลังน้ำท่วม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ โดยให้น้ำไหลผ่าน โดยเฉพาะช่วงพักเบรก พักรับประทานอาหาร หรือภายหลังเลิกงาน และต้องมั่นใจด้วยว่าน้ำที่เอามาล้างต้องสะอาดและได้รับการับรอง หรือผ่านการต้มเดือดนานเกินกว่า 10 นาที
พนักงานที่ทำหน้าที่ทำความสะอาดและฟื้นฟูจะต้องสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล (PPE) ในการปกคลุมร่างกาย โดยต้องเข้าใจว่าสารปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ การสัมผัสร่างกาย หายใจ และกลืนกิน อุปกรณ์พื้นฐานประกอบไปด้วย ชุดคลุมร่างกาย, ครอบตานิรภัย, ถุงมือยาง, รองบู้ท และอุปกรณ์อื่นๆเพิ่มเติมที่ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงในการปฏิบัติงาน

น้ำท่วม (Flood water)
ส่วนใหญ่น้ำท่วมจะมีพวกจุลชีพ รวมไปถึงเชื้อแบคทีเรีย เช่น E. coli, Salmonella และ Shigella; ไวรัสตับอักเสบ A (Hepatitis A Virus) เชื้อไทฟรอย์ กับพาราไทฟรอย์ (Typhoid and paratyphoid) และ บาดทะยัก (tetanus) สัญญาณที่บ่งบอกว่าเราเริ่มจะเป็นผู้ป่วยแล้ว คือ คลื่นไส้ (nausea), อาเจียน (vomiting), ท้องเสีย (diarrhea), ตะคริวที่ท้อง (Abdominal cramps), ปวดกล้ามเนื้อ (muscle aches) และมีไข้ (fever) อาการเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากการกลินกินน้ำที่ท่วมโดยที่ไม่ตั้งใจจากการเปื้อนที่มือ หรือภาชนะและหยิบจับมารับประทาน แต่บาดทะยัก (Tetanus) จะเกิดจากการที่เชื้อแบคทีเรียแกรมบวกชนิดที่ไม่ต้องการออกซิเจนชื่อว่า Clostridium tetani แทรกซึมเข้าไปในชั้นของผิวหนังที่ฉีกขาด ขีดข่วน ถลอก หรือเป็นแผล บาดทะยักเป็นเชื้อที่มีผลต่อระบบประสาท และกล้ามเนื้อในส่วนต่างๆ โดยอาการเริ่มแรกจะมีอาการปวดศีรษะก่อน และจะเริ่มกลืนกินลำบาก และอ้าปากไม่ได้ ซึ่งแท้ที่จริงไม่ใช้เกิดจากเหล็กที่มีสนิมแต่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ตะหาก
นอกจากนี้น้ำท่วมยังมีการปนเปื้อนของเสียจากการเกษตร และสารเคมีจากอุตสาหกรรม ผู้ป่วยจะมีอาการตามชนิดของสารเคมีที่สัมผัส โดยส่วนใหญ่จะมีอาการที่เกิดจากแพ้พิษสารเคมี ปวดศีรษะ เป็นผดที่ผิวหนัง คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย หรือตื่นตระหนกตกใจ

การฟื้นฟู และทำความสะอาดภายหลังน้ำท่วม (Flood Cleanup and recovering)
แม้ว่าน้ำท่วมส่วนใหญ่จะไม่ทำให้เกิดโรคระบาดร้ายแรง หรือเกิดพิษจากสารเคมีมากนัก แต่ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเจ็บป่วยของผู้ปฏิบัติงานที่สัมผัสกับมัน อันเกิดจากอันตรายจากไฟฟ้า และอัคคีภัยได้จากการเชื่อมโยงกับสายไฟฟ้า
ยุง และแมลงกัดต่อยสามารถป้องกันได้โดยการสวมเสื้อคลุมยาว (long-sleeved shirts) และ กางเกงขายาวคลุม (long pants) และยาทา หรือฉีดกันยุงพอช่วยได้บ้าง อย่าลืมล้างมือด้วยน้ำสะอาดด้วยสบู่ก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง และภายหลังการเข้าห้องน้ำ สำหรับเด็กเล็กต้องป้องกันไม่ให้เข้าไปเล่นในที่น้ำท่วมโดยเด็ดขาด และของเล่นที่โดนน้ำท่วมต้องล้างให้สะอาด และฆ่าเชื้อด้วย

ถ้ามีอาการตามที่กล่าวมา
ให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น และไปพบแพทย์ ถ้าพบบาดแผลฉีกขาด ถลอก ที่อาจนำไปสู่การเป็นบาดทะยักจำเป็นต้องรับวัคซีนป้องกันการเกิดบาดทะยัก ถ้าวัคซีนที่เคยได้รับมาแล้วนานกว่า 5 ปี

จำไว้ว่า
• ก่อนที่จะเข้าทำงานในพื้นที่น้ำท่วม ต้องแน่ใจว่าวัคซีนที่เราเคยได้รับจากการป้องกันเชื้อบาดทะยักยังมีภูมิป้องกันให้เราอยู่
• น้ำมีความไม่ปลอดภัย จนกว่าได้รับการประกาศ ยืนยัน และได้รับการรับรองแล้วจากเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจในท้องถิ่น
• ไม่ใช้น้ำเหล่านี้ชำระล้างร่างกาย ภาชนะ เตรียมอาหาร แปรงฟัน หรือทำน้ำแข็ง
• เตรียมน้ำสะอาดให้เพียงพอสำหรับบริโภค และอุปโภค
• กระตือรือร้นในการป้องกันในกรณีที่สารเคมีปนเปื้อน หรือเชื้อโรคมากับน้ำท่วม
• ทำป้ายเตือนในพื้นทีที่อาจมีความเสี่ยงจากสารเคมี ไฟฟ้า อัคคีภัย เช่น ถังโพรเพน หรือวัตถุมีพิษ หรือไวไฟควรได้รับการดำเนินการป้องกันโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เรียบเรียงโดย
ปราโมทย์ โอภาสมงคลชัย

Sources:
U.S. Department of Labor www.osha.gov. For more complete information:DSTM 9/2005

วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554

จิตสำนึกความปลอดภัย ตอนที่ 4 : สาเหตุแอบแฝง



ความเดิมตอนที่แล้วเราได้เห็นวิธีการพูดคุยเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Talk to) แต่เหตุใดพฤติกรรมเสี่ยง (At risk) เหล่านี้ถึงได้เกิดขึ้นล่ะ มันเป็นพฤติกรรม หรือโรคติดต่อหรือเปล่าก็ไม่รู้ เรามาดูกันดีกว่าครับ
การที่คนแสดงพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัยนั้นมีหลายสาเหตุ แต่หลักๆแล้วมีสาเหตุแอบแฝงดังต่อไปนี้
สาเหตุแอบแฝง(underlying causes)
  1. ขาดความรู้ หรือไม่ได้รับการอบรม
  2. คิดว่ามันไม่เกิดขึ้นตอนนี้หรอก
  3. ทัศนคติไม่ดีต่อความปลอดภัย
  4. ไม่เข้าใจการใช้งานอุปกรณ์ความปลอดภัย
  5. ทำแบบนี้มานานแล้วก็ไม่เป็นอะไร
  6. ทำตามพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัยของคนหมู่มาก
  7. สะดวกอิสระ สบาย เอาง่ายเข้าว่า
  8. ให้ความสำคัญผลผลิตมากเกินไป
  9. สภาพจิตใจในขณะนั้น เป็นกังวล จิตใจไม่ปกติ



ลองย้อนกลับไปอ่าน ตัวอย่างที่ 2 ของตอนที่ 3 ดูสิครับว่าสาเหตุแอบแฝง คือ หัวข้อใด ผมให้เวลา 1 นาทีครับ
เฉลย คือ ข้อที่ 1, 4 และ 7 คือ พนักงานไม่มีความรู้ว่าทินเนอร์มันอันตรายต่อสุขภาพเพียงใด, ไม่ทราบว่าตลับกรองที่สวมใส่อยู่หมดอายุซะแล้ว และปฏิสธการสวมใส่หน้ากากเพราะว่าสบายกว่า
แต่คนเรา หรือหัวหน้างานมักจะด่วนพิพากษาก่อนเลย คือ ตัดสินจากตาของเราที่เห็น เช่น พนักงานไม่ใส่หน้ากาก ก็สรุปเลยว่าไอ้นี่ไม่สนใจเรื่องความปลอดภัยเลย แต่แท้จริงแล้วอาจมาจาก ข้อที่ 1 ก็ได้ คือ ขาดความรู้ ไม่ได้รับการอบรม
ผมมีตัวอย่างหนึ่งน่าสนใจมากที่ได้ยินมาจาก อ.วรภัทร์ ภู่เจริญ เรื่องมันมีอยู่ว่า

 ภาพ : citicab.weebly.com

บริเวณจุดกลับรถแห่งหนึ่ง คนขับรถเก๋งสุดหรูกำลังรอที่จะกลับรถที่จุดกลับรถ อย่างไม่รีบร้อน ทันใดนั้นเอง แท๊กซี่ที่อยู่ด้านหลังกดแตรไล่ ปิ้นๆๆๆ คนขับรถเก๋งก็อารมณืเสียขึ้นมาทันที และไม่สนใจไม่ยอมกลับรถสักทีนานอยู่หลายนาที แม้ว่ารถจะว่างแล้ว คนขับรถเก๋งก็ไม่ขยับไปไหน แท๊กซี่ก็กดแตร์ต่อไป ทั้งถี่ ทั้งยาว สนั่นหวั่นไหวมากกว่าเดิม คนขับรถเก๋งโกธรจัด หูแดง ควันออกจมูก ลงจากรถ ด้วยใบหน้าที่แดงกร่ำ ด้วยความโกธร และเดินตรงไปที่แท๊กซี่ และบอกว่า…”
คนขับรถเก๋ง : ลุง มีปัญหาอะไร!
ลุงขับแท๊กซี่: รถก็ว่างแล้วทำไมคุณไม่ไปล่ะครับ แต่ตอนนี้ผมไม่รีบแล้วล่ะ
คนขับรถเก๋ง : ทำไมล่ะ! และเหลือบมองเข้าไปที่เบาะหลัง เห็นหญิงสาวนอนแน่นิ่ง
ลุงขับแท๊กซี่: ผมมีคนป่วยมาด้วยเขาต้องรีบไปโรงพยาบาลด่วน แต่สายไปเสียแล้วล่ะ เขาเสียชีวิตแล้วครับ
คนขับรถเก๋ง : แน่นิ่ง มือสั่น ทำอะไรไม่ถูกและรู้สึกเสียใจในสิ่งที่ตนเองทำลงไปเนื่องจากไม่ทราบสาเหตุก่อน
ตัวอย่างนี้ค่อนข้างชัดเจน ผมคงไม่อธิบายแล้วนะครับว่า การไม่ค้นหาสาเหตุแอบแฝงก่อน หรือสรุปเอาเอง ไม่ห้อยคำพิพากษาก่อน ผลสุดท้ายมันเป็นอย่างไร
 ภาพ : www.smu.edu.sg


คำถามที่เป็นประโยชน์
  • ที่ทำงานของเราพนักงานพนักงานทำพฤติกรรมเสี่ยง (At risk ) บ้างหรือเปล่า?
  • พนักงานเหล่านั้นทำพฤติกรรมเสี่ยงเนื่องจากสาเหตุ (Underlying causes) เหล่านี้หรือไม่?
  • เราจะใช้วิธีใดในการเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ what if และ talk to สามารถนำมาใช้ได้หรือไม่?
  • เราเคยด่วนพิพากษาก่อนเลยหรือเปล่า?
 ภาพ : www.dir.coolclips.com


สรุป
อย่าด่วนพิพากษา เพราะถ้าเราไม่มีการค้นหาสาเหตุแอบแฝงก่อน อาจทำให้เราเข้าใจผิด เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์มักคิดในแง่ลบก่อนเสมอ (Negative thinking) ที่มากไปกว่านั้น การไม่ค้นพบสาเหตุแฝงที่แท้จริงยังทำให้เกิดการกระทำที่ไม่ปลอดภัยดังกล่าวซ้ำไป ซ้ำมา จนเกิดการบาดเจ็บ หรืออุบัติเหตุได้ และผลที่ตามมาคือเราจะเห็นว่าพนักงานทำงานปลอดภัยก็แค่เฉพาะเวลาที่เราเข้ามาตรวจเท่านั้น แล้วตอนที่เราไม่ได้มาตรวจล่ะครับ?

ถ้าอ่านแล้วมีประโยชน์ อยากรับข้อมูลอื่นๆเพิ่มเติมรบกวนคลิ๊ก "like" ให้ด้วยครับ ขอบคุณครับ
Source : www.pramoteo.com

วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554

จิตสำนึกความปลอดภัย ตอนที่ 3 : คุยกันดีๆก็ได้



ภาพ :dir.coolclips.com

ความเดิมตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2 เราได้พูดถึง "การใส่ใจ ให้ความรัก และเทคนิคสังเกตความปลอดภัยไปแล้ว" และดำเนินเรื่องมาถึง กรณีศึกษาที่ 1 จากเหตุการณ์นี้

"พนักงานผสมสารเคมี ใส่ผ้าปิดจมูก และปฏิเสธที่จะสวมหน้ากากที่มีมาตรฐาน แต่อุปกรณ์อื่นๆใส่ครบหมด อย่างถูกต้องเราจะทำอย่างไร?"

ภาพ : www.moetama.biz


ตัวอย่างที่ 1

หัวหน้างาน : ใส่หน้ากากเดี่ยวนี้ เดี๋ยวถ้าผู้จัดการมาเห็นแล้วเดี๋ยวฉันจะเดือดร้อน
ลูกน้อง : ทำหน้า งงๆ?? แล้วก็ไปหยิบมาใส่
เมื่อหัวหน้าเดินจากไป : ลูกน้องก็ถอดออก และทำงานต่อไป...

จากตัวอย่างเบื้องต้นจะเห็นว่า

"สิ่งที่หัวหน้าทำคือสั่งอย่างเดียว เอาเหตุผลส่วนตัวมาบังคับให้ลูกน้องใส่หน้ากาก เพราะกลัวตัวเองจะเดือดร้อน แต่ไม่ได้แสดงความห่วงใยลูกน้องเลย" แล้วลูกน้องล่ะก็จะทำตามแค่ตรงน้ัน สักพักก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม คือ "ไม่ได้มีโอกาสพูดซักคำ ไม่รู้ว่าทำไมตัวเองต้องใส่หน้ากาก ทำไมหัวหน้าต้องอารมณ์เสีย ฉันหน้าเหมือนบรรพบุรุษเขาหรือไง ฉันทำอะไรไม่ถูกต้อง ใส่หน้ากากแล้วมันจะช่วยอะไรฉันได้ ถ้าฉันไม่ใส่แล้วมันจะเป็นอย่างไร ไม่เข้าใจ... งง ทำหน้าเหมือนหมาสงสัย" ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความปลอดภัยจากเหตุการณ์นี้กลายเป็นเป็นเรื่องล้มเหลว ไปซะแล้ว

มาดูสถานการณ์เดียวกันแต่การกระทำต่างกันบ้างครับ

ตัวอย่างที่ 2

ภาพ : www.hokusatu-roan.jimdo.com


หัวหน้างาน : สวัสดีสมชาย (ชื่อลูกน้อง)กำลังทำอะไรอยู่ เหนื่อยมั้ย?
ลูกน้อง : กำลังผสมทินเนอร์อยู่ครับพี่ ก็เหนื่อยเหมือนกันครับ
หัวหน้างาน : มีอะไรให้ผมช่วยก็บอกนะ เออนี่สมชาย! พี่เห็นสมชายใส่ PPE ครบเลยแต่ ทำไมไม่ใส่หน้ากากรองสารเคมีล่ะ
ลูกน้อง : โฮ้ยพี่ ผมไม่ใส่หรอก มันป้องกันไม่ได้ ใส่แล้วได้กลิ่นสารเคมีอยู่ดี ผมเลยไม่ใส่ดีกว่า
หัวหน้างาน : สมชายใส่มานานหรือยัง แล้วก่อนหน้านั้นใส่แล้วเป็นอย่างไรบ้าง
ลูกน้อง : แรกๆมันไม่มีกลิ่นนะพี่ แต่สักอาทิตย์ผ่านไปมันได้กลิ่นเคมีฉุนมาก สู้ผมไม่ใส่ยังจะดีกว่าไม่รู้ไอ้เซฟตี้มันเลือกมาให้ใส่ ได้ยังไง
หัวหน้างาน : ถ้าได้กลิ่นสารเคมีนั้นหมายความว่าตลับกรองหมดอายุแล้ว ต้องเปลี่ยนใหม่
ลูกน้อง : อ้าว!!! ทำไมไม่เห็นมีใครบอกผมเลย แต่อย่างไรก็ตามผมก็ไม่ใส่
หัวหน้างาน : ทำไมล่ะครับ
ลูกน้อง : มันหนัก หายใจไม่สะดวก เทอะทะ ใส่ลำบาก ผมก็ใส่ไม่ค่อยเป็นด้วย
หัวหน้างาน :ถ้าไม่ใส่หน้ากาก แล้วดมกลิ่นทินเนอร์ ทุกวัน ทุกวัน อะไรจะเกิดขึ้นกับคุณล่ะ
ลูกน้อง : หยุดนิ่ง คิดสักไปขณะหนึ่ง ผมเข้าใจแล้วผมคงอายุไม่ยืนแน่ๆเลยพี่ แล้วลูก เมียผมคงจะลำบาก แล้วก็บอกหัวหน้าว่า พี่ไอ้ตลับกรองรุ่นนี้ยังมีเหลือมั้ยพี่ ผมคิดได้แล้วว่าผมต้องเอามาใส่
หัวหน้างาน :ยังมีเหลือเดี๋ยวไปเบิกได้ที่สโตร์ แต่เดี๋ยวพี่จะหาตัวใหม่ที่ หายใจได้สะดวก น้ำหนักเบา ไม่เทอะทะ และให้ผู้เชี่ยวชาญเขาเข้ามาสอนให้ดีมั้ย เผื่อมีอะไรสงสัยจะได้สอบถามโดยตรงเลย
ลูกน้อง : ดีมากเลยครับ พี่ขอบคุณมากครับ
หัวหน้างาน :ไม่เป็นไร พี่ขอบใจสมชายเหมือนกันนะที่ทำให้รู้ว่าหน้ากากรุ่นนี้มันมีปัญหาอย่างไร ช่วยแนะนำเพื่อนๆด้วยล่ะ
ภาพ : www.hokusatu-roan.jimdo.com

จากตัวอย่างที่ 2 เราพบว่า

หัวหน้างาน : มีการทักทาย เป็นกันเอง เรียกชื่อ เปิดโอกาสให้อธิบาย ใช้คำถามให้ลูกน้องฉุกคิด ดำเนินการแก้ปัญหาให้ตามที่ลูกน้องต้องการ ลูกน้องมีโอกาสได้พูดคุยถึงปัญหา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และกล่าวขอบคุณ

ลูกน้อง : รู้สึกว่าหัวหน้ามีความเป็นกันเอง ใส่ใจ เปิดโอกาสให้ได้อธิบาย ช่วยให้เขาคิดได้ และมีความจริงใจในการแก้ปัญหา



                                                   ภาพ : www.hokusatu-roan.jimdo.com
  
สรุป
คนส่วนใหญ่จะไม่ปฎิบัติตามถ้าไม่ทราบสาเหตุหรือเหตุผล (Talk to) การที่ไม่ต้องบอกอะไรเลยแต่ใช้การตั้งคำถาม (what if) ให้เขาฉุกคิดได้ได้เองดีกว่าการสั่ง หรือบอกไปซะทุกอย่าง การแสดงความเอาใจใส่ และใช้แรงเสริมทางบวก (positive reinforcement) ช่วยให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่ความปลอดภัยแบบยั่งยืนได้ (Behavior change)

คำถามที่เป็นประโยชน์

เราสังเกตเห็นการกระทำที่ไม่ปลอดภัยแล้ว ทำอย่างไร

1. ทำเหมือนตัวอย่างที่ 1
2. เดินหนี
3. มองจ้องจนเขาหยิบหน้ากากมาใส่แล้วก็เดินไป
4. ทำเหมือนตัวอย่างที่ 2 แต่ไม่ทำตามที่สัญญาไว้

ตอนที่ 4 เราจะมาคุยกันเรื่องอะไรต่อ รออ่านได้นะครับ


ถ้าอ่านแล้วมีประโยชน์ อยากรับข้อมูลอื่นๆเพิ่มเติมรบกวนคลิ๊ก "like" ให้ด้วยครับ ขอบคุณครับ
Source : www.pramoteo.com


วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

จิตสำนึกความปลอดภัย ตอนที่ 2 : ทำไมไม่ใส PPE




ผมได้เดินทางไปให้คำปรึกษา และสำรวจเกี่ยวกับการปกป้องระบบทางเดินหายใจในโรงพยาบาลต่างจังหวัดแห่งหนึ่ง และได้คุยกับ
คุณลุงใจดีคนหนึ่งในห้องตัดเฝือก จึงได้ทักทายกัน
ปราโมทย์ : สวัสดีครับคุณลุง ใช้ผ้าปิดจมูกมานานหรือยังครับ
คุณลุง : หยุดคิดใช้มาเป็น 10 ปีแล้ว ซักบ้าง พอขาดหรือเปื่อยก็เปลี่ยนอันใหม่
ปราโมทย์ : ห้องตัดเฝือกฝุ่นเยอะนะครับ ผมว่าผ้าปิดจมูกที่คุณลุงใช้อยู่มันไม่มีมาตรฐาน และไม่สามารถกรองฝุ่นจากงานตัดเฝือกได้นะครับ แล้วผมก็หยิบหน้ากากมาตรฐานให้ และบอกว่าต้องใช้หน้ากากที่มีมาตรฐานรับรองแบบนี้ครับ และลองสวมใส่ให้คุณลุง
คุณลุง : ขอบใจมากนะ ก็สงสัยมานานว่าทำไมใส่ผ้าปิดจมูกแล้วมันคันจมูกอยู่อีก เดี๋ยวลุงจะให้ทางโรงพยาบาลเขาสั่งแบบนี้มาใช้
1 ปีถัดมา ผมได้ไปโรงพยาบาลแห่งนี้อีกครั้ง และได้ทราบข่าวคุณลุงได้เสียชีวิตแล้ว เนื่องจากการใช้หน้ากากผิดประเภท (ผ้าปิดจมูก) มาเป็นระยะเวลานานนับ 10 ปี ก่อนที่จะมีการรณรงณ์เรื่องของ อาชีวอนามัย และความปลอดภัยอย่างจริงจัง ภายในปอดพบฝุ่นขนาดเล็กสีขาวจำนวนมาก อันเนื่องมาจากหายใจเอาฝุ่นจากการตัดเฝือกเข้าไปในปอดจำนวนมากและยาวนาน
จากเรื่องเล่าทั้งหมดทำให้ผมทราบว่า การที่พนักงานไม่สวมใส่ PPE หรือ สวมใส่ PPE ผิดประเภทนั้น ส่วนหนึ่งมาจากความไม่รู้ แต่จากประสบการณ์ที่ผมสัมผัสมาจากการให้คำปรึกษากับหลายบริษัททั่วประเทศ กลับได้ยินมาในลักษณะเดียวกันว่า บริษัทก็จัดหาให้แล้ว กฎระเบียบก็มีแล้ว เตือนก็แล้ว สารพัด แต่ก็ยังไม่ยอมสวมใส่กัและมาตรการที่นำมาใช้เพิ่มเติม คือ การลงโทษ ปรับเงิน หรือให้หยุดห้ามปฏิบัติงานจนกว่าจะสวมใส่ให้เรียบร้อย ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่แล้วก็ยังไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ โดยเฉพาะกะดึกความปลอดภัยก็จะหย่อนยานตามๆกันไป บางทีถึงขนาดทำโทษให้มานั่งที่โรงอาหารห้ามไปไหนทั้งวัน อายเพื่อนอีก (Don't put sportlight to someone )
ผมมีโอกาสได้บินไปศึกษาเพิ่มเติมจากปรมจารย์ ด้านพฤติกรรมความปลอดภัย (Behavior-Base Safety) ผู้ซึ่งมีประสบการณ์เกือบ 40 ปี ชาวแคนาดา สิ่งที่ได้กลับมาและ เป็นสิ่งสำคัญในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านความปลอดภัย คือ การสังเกตและสื่อสาร (Observation and Communication) ซึ่งมันไม่ได้เพียงแค่ เห็น หรือ ได้ยิน หรือ บอก” เท่านั้น (seeing, hearing, telling) แต่มันลึกกว่านั้น คือ สังเกต, ฟัง และอธิบาย” (observing, listening and explanation)
มนุษย์ "ไม่ชอบให้ใครมาสั่ง มาบังคับ มาตั้งกฎ ตั้งกติกา ทุกคนชอบอิสระ" ซึ่งที่ทำได้ดีที่สุด คือ "แนะนำ ทำให้เขาคิดได้เอง ว่าต้องทำอย่างไร ฟังเขาให้มาก และเสนอในสิ่งที่เขาต้องการ และเราต้องการในทิศทางที่ชนะทั้งคู่ (win-win)"

กรณีศึกษาที่ 1
พนักงานผสมสารเคมีใส่ผ้าปิดจมูก และปฏิเสธที่สวมหน้ากากที่มีมาตรฐาน แต่อุปกรณ์ PPE อื่นๆใส่ครบหมด อย่างถูกต้องเราจะทำอย่างไร?


เอาไว้ต่อตอนที่ 3 นะครับ ยาวเกินเดี๋ยวจะเบื่อ ไว้จะเอาเรื่อง PPE ไปผูกกับเรื่องถัดไปครับ)

ถ้าอ่านแล้วมีประโยชน์ อยากรับข้อมูลอื่นๆเพิ่มเติมรบกวนคลิ๊ก "like" ให้ด้วยครับ ขอบคุณครับ
Source : www.pramoteo.com