วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554

จิตสำนึกความปลอดภัย ตอนที่ 3 : คุยกันดีๆก็ได้



ภาพ :dir.coolclips.com

ความเดิมตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2 เราได้พูดถึง "การใส่ใจ ให้ความรัก และเทคนิคสังเกตความปลอดภัยไปแล้ว" และดำเนินเรื่องมาถึง กรณีศึกษาที่ 1 จากเหตุการณ์นี้

"พนักงานผสมสารเคมี ใส่ผ้าปิดจมูก และปฏิเสธที่จะสวมหน้ากากที่มีมาตรฐาน แต่อุปกรณ์อื่นๆใส่ครบหมด อย่างถูกต้องเราจะทำอย่างไร?"

ภาพ : www.moetama.biz


ตัวอย่างที่ 1

หัวหน้างาน : ใส่หน้ากากเดี่ยวนี้ เดี๋ยวถ้าผู้จัดการมาเห็นแล้วเดี๋ยวฉันจะเดือดร้อน
ลูกน้อง : ทำหน้า งงๆ?? แล้วก็ไปหยิบมาใส่
เมื่อหัวหน้าเดินจากไป : ลูกน้องก็ถอดออก และทำงานต่อไป...

จากตัวอย่างเบื้องต้นจะเห็นว่า

"สิ่งที่หัวหน้าทำคือสั่งอย่างเดียว เอาเหตุผลส่วนตัวมาบังคับให้ลูกน้องใส่หน้ากาก เพราะกลัวตัวเองจะเดือดร้อน แต่ไม่ได้แสดงความห่วงใยลูกน้องเลย" แล้วลูกน้องล่ะก็จะทำตามแค่ตรงน้ัน สักพักก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม คือ "ไม่ได้มีโอกาสพูดซักคำ ไม่รู้ว่าทำไมตัวเองต้องใส่หน้ากาก ทำไมหัวหน้าต้องอารมณ์เสีย ฉันหน้าเหมือนบรรพบุรุษเขาหรือไง ฉันทำอะไรไม่ถูกต้อง ใส่หน้ากากแล้วมันจะช่วยอะไรฉันได้ ถ้าฉันไม่ใส่แล้วมันจะเป็นอย่างไร ไม่เข้าใจ... งง ทำหน้าเหมือนหมาสงสัย" ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความปลอดภัยจากเหตุการณ์นี้กลายเป็นเป็นเรื่องล้มเหลว ไปซะแล้ว

มาดูสถานการณ์เดียวกันแต่การกระทำต่างกันบ้างครับ

ตัวอย่างที่ 2

ภาพ : www.hokusatu-roan.jimdo.com


หัวหน้างาน : สวัสดีสมชาย (ชื่อลูกน้อง)กำลังทำอะไรอยู่ เหนื่อยมั้ย?
ลูกน้อง : กำลังผสมทินเนอร์อยู่ครับพี่ ก็เหนื่อยเหมือนกันครับ
หัวหน้างาน : มีอะไรให้ผมช่วยก็บอกนะ เออนี่สมชาย! พี่เห็นสมชายใส่ PPE ครบเลยแต่ ทำไมไม่ใส่หน้ากากรองสารเคมีล่ะ
ลูกน้อง : โฮ้ยพี่ ผมไม่ใส่หรอก มันป้องกันไม่ได้ ใส่แล้วได้กลิ่นสารเคมีอยู่ดี ผมเลยไม่ใส่ดีกว่า
หัวหน้างาน : สมชายใส่มานานหรือยัง แล้วก่อนหน้านั้นใส่แล้วเป็นอย่างไรบ้าง
ลูกน้อง : แรกๆมันไม่มีกลิ่นนะพี่ แต่สักอาทิตย์ผ่านไปมันได้กลิ่นเคมีฉุนมาก สู้ผมไม่ใส่ยังจะดีกว่าไม่รู้ไอ้เซฟตี้มันเลือกมาให้ใส่ ได้ยังไง
หัวหน้างาน : ถ้าได้กลิ่นสารเคมีนั้นหมายความว่าตลับกรองหมดอายุแล้ว ต้องเปลี่ยนใหม่
ลูกน้อง : อ้าว!!! ทำไมไม่เห็นมีใครบอกผมเลย แต่อย่างไรก็ตามผมก็ไม่ใส่
หัวหน้างาน : ทำไมล่ะครับ
ลูกน้อง : มันหนัก หายใจไม่สะดวก เทอะทะ ใส่ลำบาก ผมก็ใส่ไม่ค่อยเป็นด้วย
หัวหน้างาน :ถ้าไม่ใส่หน้ากาก แล้วดมกลิ่นทินเนอร์ ทุกวัน ทุกวัน อะไรจะเกิดขึ้นกับคุณล่ะ
ลูกน้อง : หยุดนิ่ง คิดสักไปขณะหนึ่ง ผมเข้าใจแล้วผมคงอายุไม่ยืนแน่ๆเลยพี่ แล้วลูก เมียผมคงจะลำบาก แล้วก็บอกหัวหน้าว่า พี่ไอ้ตลับกรองรุ่นนี้ยังมีเหลือมั้ยพี่ ผมคิดได้แล้วว่าผมต้องเอามาใส่
หัวหน้างาน :ยังมีเหลือเดี๋ยวไปเบิกได้ที่สโตร์ แต่เดี๋ยวพี่จะหาตัวใหม่ที่ หายใจได้สะดวก น้ำหนักเบา ไม่เทอะทะ และให้ผู้เชี่ยวชาญเขาเข้ามาสอนให้ดีมั้ย เผื่อมีอะไรสงสัยจะได้สอบถามโดยตรงเลย
ลูกน้อง : ดีมากเลยครับ พี่ขอบคุณมากครับ
หัวหน้างาน :ไม่เป็นไร พี่ขอบใจสมชายเหมือนกันนะที่ทำให้รู้ว่าหน้ากากรุ่นนี้มันมีปัญหาอย่างไร ช่วยแนะนำเพื่อนๆด้วยล่ะ
ภาพ : www.hokusatu-roan.jimdo.com

จากตัวอย่างที่ 2 เราพบว่า

หัวหน้างาน : มีการทักทาย เป็นกันเอง เรียกชื่อ เปิดโอกาสให้อธิบาย ใช้คำถามให้ลูกน้องฉุกคิด ดำเนินการแก้ปัญหาให้ตามที่ลูกน้องต้องการ ลูกน้องมีโอกาสได้พูดคุยถึงปัญหา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และกล่าวขอบคุณ

ลูกน้อง : รู้สึกว่าหัวหน้ามีความเป็นกันเอง ใส่ใจ เปิดโอกาสให้ได้อธิบาย ช่วยให้เขาคิดได้ และมีความจริงใจในการแก้ปัญหา



                                                   ภาพ : www.hokusatu-roan.jimdo.com
  
สรุป
คนส่วนใหญ่จะไม่ปฎิบัติตามถ้าไม่ทราบสาเหตุหรือเหตุผล (Talk to) การที่ไม่ต้องบอกอะไรเลยแต่ใช้การตั้งคำถาม (what if) ให้เขาฉุกคิดได้ได้เองดีกว่าการสั่ง หรือบอกไปซะทุกอย่าง การแสดงความเอาใจใส่ และใช้แรงเสริมทางบวก (positive reinforcement) ช่วยให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่ความปลอดภัยแบบยั่งยืนได้ (Behavior change)

คำถามที่เป็นประโยชน์

เราสังเกตเห็นการกระทำที่ไม่ปลอดภัยแล้ว ทำอย่างไร

1. ทำเหมือนตัวอย่างที่ 1
2. เดินหนี
3. มองจ้องจนเขาหยิบหน้ากากมาใส่แล้วก็เดินไป
4. ทำเหมือนตัวอย่างที่ 2 แต่ไม่ทำตามที่สัญญาไว้

ตอนที่ 4 เราจะมาคุยกันเรื่องอะไรต่อ รออ่านได้นะครับ


ถ้าอ่านแล้วมีประโยชน์ อยากรับข้อมูลอื่นๆเพิ่มเติมรบกวนคลิ๊ก "like" ให้ด้วยครับ ขอบคุณครับ
Source : www.pramoteo.com